ของ บลจ.ไทยพาณิชย์ บลจ.ทหารไทย บลจ.ไอเอ็นจี สามารถซื้อขายผ่านเน็ตได้ครับ ส่วนการเปิดบัญชีกองทุน ครั้งแรกต้องติดต่อกับธนาคาร หรือไม่ก็ส่งเอกสารทางไปรษณีย์ครับ เมื่อเราได้เลขที่ผู้ถือหน่วยลงทุนแล้ว เราจะสามารถใช้การซื้อขายผ่านอินเตอร์เน็ตได้ครับ (อย่าลืมว่าตอนเปิดบัญชีกองทุนต้องระบุด้วยนะครับว่า ขอใช้บริการซื้อขายผ่านอินเตอร์เน็ต ปกติแล้วจะใช้เวลาไม่เกิน 2 อาทิตย์ครับ) เมื่อเปิดบัญชีกองทุนใดกองทุนหนึ่งแล้ว จะสามารถซื้อขายกองทุนอื่นใน บลจ. นั้นๆ ได้ครับ

สำหรับผู้ที่สนใจจะเริ่มลงทุนในกองทุนจะต้องสำรวจตัวเองก่อนครับว่า
1. รับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน (ยอมเสียเงินต้นได้หรือไม่ เสียได้บางส่วน เสียไม่ได้เลย)
2. ผลตอบแทนที่ต้องการ (ยิ่งผลตอบแทนสูง ยิ่งเสี่ยงมากนะครับ แต่ถ้าศึกษาดีๆ ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้เยอะครับ)
3. สภาพคล่อง (สภาพคล่องสูงคือสามารถเอาออกมาใช้ได้ง่ายๆ ครับ เช่น ขายคืนแล้วได้เงินเลย ส่วนสภาพคล่องต่ำคือเราอาจไม่สามารถนำเงินออกมาใช้ได้ถ้ายังไม่ครบกำหนด หรือสามารถเอาออกมาได้ก่อนแต่ต้องเสียเงินต้นหรือผลตอบแทนไปบางส่วน)
4. ระยะเวลาในการลงทุน (ถ้าเป็นการลงทุนระยะยาวในสินทรัพย์เสี่ยงบางอย่างเช่นกองทุนหุ้น ก็จะสามารถลดความเสี่ยงลงได้ครับ)
5. ค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียม (เปรียบเทียบค่าใช้จ่ายและผลตอบแทนก่อนการลงทุนครับ บางทีถึงผลตอบแทนสูงแต่ค่าใช้จ่ายก็สูงตาม คุ้มหรือไม่คุ้มก็แล้วแต่ท่านจะตัดสินใจครับ)
6. ความสะดวกสบาย (ปกติซื้อขายผ่านอินเตอร์เน็ตได้อยู่แล้ว จึงแล้วแต่ท่านจะเลือก บลจ เลยครับ)

ขั้นตอนโดยทั่วไปเมื่อจะเริ่มลงทุน
1. เปิดบัญชีกองทุน โดยท่านจะต้องเลือกกองทุนเริ่มต้นก่อน 1 กองทุนครับ ปกติแล้วควรจะเป็นกองทุนตลาดเงิน (MMF) เพราะเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำสุด หรือแทบจะไม่มีความเสี่ยงเลย (ควรอ่านหนังสือชี้ชวนก่อนลงทุนนะครับ) การเปิดบัญชีกองทุนปกติแล้วจะมี 3 ช่องทาง คือ เปิดบัญชีกับสาขาใหญ่ของ บลจ เลย หรือ เปิดบัญชีกับธนาคารที่เป็นตัวแทน หรือ เปิดบัญชีทางไปรษณีย์ ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ของ บลจ นั้นๆ ครับ แล้วก็อย่าลืมระบุด้วยนะครับว่าต้องการซื้อขายผ่านทางอินเตอร์เน็ต
2. หลังจากเราได้ เลขที่ผู้ที่หน่วยก็เอามาลงทะเบียนเพื่อเปิดการซื้อขายผ่านทางอินเตอร์เน็ต หรือ บาง บลจ จะเปิดการซื้อขายผ่านทางอินเตอร์เน็ตให้เราเลย (ติดต่อกับพนักงานธนาคาร ง่ายที่สุดครับ)
หลังจากนั้นเราจะสามารถซื้อขายกองทุนใน บลจ นั้นๆ ได้แล้วครับ

ขอควรรู้เกี่ยวกับกองทุนครับ
1. ทุกกองทุนจะมีหนังสือชี้ชวน และหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปครับ ในเอกสารฉบับนั้นจะบอกว่า กองทุนเป็นกองทุนประเภทไหน เอาเงินไปลงทุนอะไร ผลตอบแทนย้อนหลังเป็นยังไงบ้าง มีเงือนไขอย่างไรบ้าง (ควรศึกษาให้ละเอียดก่อนลงทุนครับ)
2. ระยะเวลาในการรับเงินหลังจากการขาย (ปกติแล้วเมื่อขายกองทุน เราจะยังไม่ได้รับเงินในทันทีครับ) ปกติแล้ว บลจ จะระบุเป็น T ครับ เช่น T+0 หมายความว่าเมื่อขายกองทุน เราจะได้รับเงินในเย็นวันนั้น หรือ T+5 จะหมายถึงหลังจากเราส่งคำสั่งขายกองทุนสำเร็จ เราจะได้รับเงินหลังจากนั้นเป็นระยะเวลา 5 วันทำการ (ไม่นับรวมเสาร์ อาทิตย์และวันหยุดของ บลจ ครับ)
3. ปกติกองทุนตราสารหนี้จะไม่เก็บค่าธรรมเนียมการซื้อขาย แต่กองทุนหุ้นหรือกองทุนผสมจะมีการเก็บค่าธรรมเนียมการซื้อขายด้วย เช่น กองทุน A ระบุว่าจะเก็บค่าธรรมเนียมการซื้อ (ค่าธรรมเนียมการเสนอขาย คือขายให้ผู้ถือหน่วย) 0.15% และค่าธรรมเนียมการขาย (ค่าธรรมเนียมการรับซื้อคืน คือซื้อคืนจากผู้ถือหน่วย) 0.15% หมายความว่าถ้าเราซื้อกองทุน A 10000 บาท วันแรกเราจะติดลบทันที 15 บาท หลังจากนั้นเราถือหน่วยลงทุนไปจนมีมูลค่ารวมเป็น 20000 แล้วเราได้ทำการขาย เราจะเสียค่าธรรมเนียมตอนขายอีก 30 บาท ซึ่งเราจะได้เงินจริงๆ 19970 บาท เป็นต้น
4. กองทุนโดยทั่วไปมี 2 แบบคือกองทุนปันผล และกองทุนไม่ปันผล เมื่อกองทุนมีการปันผล มูลค่าหน่วยลงทุนจะลดลงตามเงินที่ถูกปันผลออกมา แต่ผู้ถือหน่วยจะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% (ถ้ามีการระบุไว้ตอนเปิดบัญชี)
ส่วนการขายคืนหน่วยลงทุน เราจะไม่ต้องเสียภาษี ณ ที่จ่าย
5. กองทุนบางประเภทที่ลงทุนในต่างประเทศ ในบางกองทุนมูลค่าหน่วยลงทุนจะปรากฏช้ากว่าปกติครับ เช่นมูลค่าหน่วยลงทุนอาจเป็นของวันก่อนไม่ใช่ของวันปัจจุบันเป็นต้น (ต้องอ่าน หนังสือชี้ชวนดีๆ ครับ)